Posted on Thursday, September 3, 2020
หากเราถามคุณว่า หุ้นชนะเลิศของครึ่งแรกปี 63 คือหุ้นอะไร? เราคิดว่า CPF น่าจะอยู่ในใจใครหลายคน ด้วยเหตุที่ CPF อยู่ในหมวดธุรกิจอาหาร เป็นสิ่งที่มีความต้องการสำหรับผู้บริโภคอยู่เสมอ ไม่ว่าในปกติหรือสภาวะวิกฤตต่างๆ ทำให้การระบาดของ COVID-19 ไม่ค่อยมีผลกระทบเชิงลบกับ CPF มากเท่าไร
นอกจากนี้ ช่วงต้นปี CPF ยังได้รับปัจจัยบวกจากภัยแล้ง ที่ทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ดันให้ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นตามมา และผลพวงจากโรคระบาดในหมู ทั้งที่จีนและเวียดนาม ทำให้ผลผลิตเนื้อหมูลดลง (หมูขาดตลาด) แต่ความต้องการบริโภคกลับเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะที่เวียดนาม) เป็นผลดีต่อรายได้ของ CPF และผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งทำให้ CPF ได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนไปด้วย
เมื่อวิเคราะห์จากผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 63 CPF มีกำไรสุทธิ H1/63 ที่ 12,139 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ H1/62 ที่มีกำไรสุทธิ 8,384 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 45% เมื่อเทียบ YoY ก็ถือว่าธุรกิจของ CPF เติบโตขึ้นท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลัก 3 เรื่องที่เรากล่าวไปข้างต้น คือ 1) ภัยแล้ง 2) หมูขาดตลาด และ 3) เงินบาทอ่อนค่า
ด้านราคาหุ้น CPF ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคา ณ ต้นปีที่ 27.50 บาท ได้รับผลกระทบจาก Sentiment ลบของ COVID-19 ลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 18.70 บาท และค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นจนไปทำจุดสูงสุดที่ 35.25 บาท ก่อนจะปรับตัวลงมาที่ระดับ 31 บาทในวันนี้ (1 ก.ย. 63) เมื่อเทียบราคาหุ้นปัจจุบัน กับราคาหุ้น ณ ต้นปี CPF มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น +12.7% YTD สะท้อนว่า CPF ให้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนี SET (Outperform) ที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 1,311.66 จุด หรือลดลง -16.98% YTD (ดัชนี SET ต้นปี 63 อยู่ที่ 1,579.84 จุด)
จุดเปลี่ยนสำคัญของราคาหุ้น CPF คือ การปรับตัวลงสู่ระดับ 31 บาท และเป็นสัญญาณการเริ่มต้นของขาลงในมุมมองทางเทคนิค (สังเกตจากภาพประกอบด้านล่าง)
จากภาพ จะเห็นว่าราคาหุ้น CPF มีการหลุดแนวโน้มขาขึ้น ตั้งแต่ตอนที่ราคาหุ้นหลุด 33-33.50 บาทลงมาแล้ว หากใครพิจารณาประกอบกับวอลุ่มซื้อขาย ท่านจะพบอีกว่ามีวอลุ่มเพิ่มขึ้นพร้อมกับราคาหุ้นร่วงลงมา เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการกลับตัวเป็นขาลงของจริง...เราจึงวิเคราะห์ปัจจัยที่อาจกระทบ CPF ในครึ่งหลังปี 63 ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อซัพพอร์ตการเปลี่ยนแนวโน้ม
1) แนวโน้มค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เข้าสู่ Q3/63 เป็นลบต่อรายได้จากต่างประเทศของ CPF
2) แนวโน้มราคาเนื้อหมูในไทยและเวียดนามเริ่มทรงตัวมาตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. เนื่องจากผลผลิตเนื้อหมูเริ่มฟื้นตัวในหลายประเทศ หลังผ่านช่วงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF)
3) ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือน พ.ค. ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ในไทยเริ่มทรงตัวตามกันไป
สรุป ง่ายๆ คือ ปัจจัยบวกที่เคยหนุนธุรกิจของ CPF ในช่วงต้นปีเริ่มหายไป ทำให้นักลงทุนขายทำกำไรออกมา ราคาหุ้นจึงร่วงลงหลุดแนวรับสำคัญ 33 บาทและเริ่มเข้าสู่ขาลง ทำให้เราปรับมุมมองของ CPF Futures ที่แนะนำ Long ในรอบก่อนหน้า เป็น Short ในรอบนี้ โดยแนะนำให้เปิดสถานะ Short บริเวณ 31.50-32.50 บาท กำหนดจุด Stop Loss ที่ 33.50 บาท และมีเป้าหมายการทำกำไรระยะสั้นที่กรอบ 28-29 บาท
อย่างไรก็ตาม หากมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนราคาหุ้นของ CPF อีกครั้ง ต้องกำหนดจุด Stop Loss ไว้ เพื่อไม่ให้ขาดทุนจากสถานะ Short มากเกินไป และมีเงินต้นในพอร์ตมากพอที่จะทำกำไรในจังหวะอื่น...และถ้าวิเคราะห์ในมุมมองทางเทคนิค การกลับไปยืนเหนือ 33 บาทได้ จะเป็นการส่งสัญญาณขาขึ้นของราคาหุ้น CPF อีกครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ: ราคาหุ้น ณ วันที่ 1 ก.ย. 63
Array ( [Secure-PHPSESSID] => 1ml3utdor8a6ejsb3s92nn212f [cooCAFXXSUAV] => cooCAFXXSUAV )
Array ( [sesCAFXXSLAT] => 1734888494 [CAFXSI18NX] => en [_csrf] => 73c42e13284103513bf43b1c98db9fcb [CAFXSFEREF] => https://www.caf.co.th/switcher.html?action=language&language=en&origin=https%3A%2F%2Fwww.caf.co.th%2Farticle%2Fhas-cpf-timed-up.html )
Array ( [content] => has-cpf-timed-up )
Array ( )