เผยแพร่เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564
ราคาหุ้นของ KBANK หรือ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ปรับตัวบวกขึ้นแรงกว่า 7% ในเช้าวันพฤหัสที่ 21 ม.ค. 64 หลังการประกาศผลการดำเนินงานปี 63 ที่แม้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 62 แต่เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปในรายไตรมาสแล้ว พบว่ามีลักษณะฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบจาก Q2/63 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ด้วยเหตุนี้ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามว่า KBANK มีโอกาสผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือไม่?
KBANK รายงานผลการดำเนินงาน Q4/63 โดยมีรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (รายได้จากดอกเบี้ย รวมกับรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย) จำนวน 38,911 ล้านบาท ลดลงจาก Q4/62 ที่มีรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ 41,727 ล้านบาท หรือลดลง -6.75% YoY แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ Q3/63 ที่มีรายได้จากการดำเนินงานสุทธิจำนวน 36,754 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น +5.87% QoQ
ด้านกำไรสุทธิของ KBANK ใน Q4/63 รายงานไว้ที่ 13,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ Q4/62 ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 8,802 ล้านบาท (+50.62% YoY) และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ Q3/63 ที่มีกำไรสุทธิ 6,679 ล้านบาท (+98.50% QoQ) การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิมาจากการบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือหนี้สูญลดลง เนื่องจากลูกหนี้มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้ดี และธนาคารมีการสำรองเพียงพอแล้ว
ด้านคุณภาพสินเชื่อ KBANK รายงานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 3.93% ลดลงจาก Q3/63 ที่ 3.95% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ Q4/62 ที่อัตรา 3.65% สะท้อนให้เห็นว่าสินเชื่อมีคุณภาพดีขึ้นเมื่อเทียบกับ Q3/63 ตามน้ำหนักของผลกระทบจากโควิด-19 ที่ลดลงในช่วงต้น Q4/63
ส่วนกำไรสุทธิทั้งปี 63 KBANK รายงานไว้ที่ 29,487 ล้านบาท ลดลง -23.86% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 38,727 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลาย Q1 ถึงช่วงต้น Q3 กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แนวโน้มขาลงของอัตราดอกเบี้ย และกำลังซื้อที่ลดลงอันเป็นผลกระทบจากการ Lockdown
คราวนี้ มาวิเคราะห์การฟื้นตัวของ KBANK กันบ้างว่าเป็นอย่างไร โดยจะวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน และกำไรสุทธิรายไตรมาสเฉพาะปี 63 ได้ข้อสรุปดังนี้
1. รายได้จากการดำเนินงานสุทธิเพิ่มขึ้นมากที่สุดใน Q2/63 โดยเป็นผลกระทบของกำไรจากเงินลงทุนที่ผ่านการ Mark-to-Market ด้านรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับที่เปลี่ยนแปลงไม่มาก ทำให้รายได้จากการดำเนินงานปกติอยู่ในแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
2. กำไรสุทธิลดลงหนักสุดใน Q2 โดยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ ธปท. ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของ KBANK สูงขึ้น และต้องตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น ก่อนจะฟื้นตัวดีขึ้นใน Q3 และต่อเนื่องมาจนถึง Q4 เนื่องจากมีการตั้งสำรองเพียงพอแล้ว และลูกหนี้มีความสามารถในการชำระเงินได้ดี
ทั้งนี้ หากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบจนถึงขั้น Lockdown อาจทำให้ KBANK ขยายตัวออกไปอีกใน Q1/64 และจุดที่ลดลงใน Q2/63 ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่า KBANK จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
ดังนั้น หากใครสนใจลงทุนใน KBANK สำหรับพอร์ตระยะยาว เรายังแนะนำให้ “ซื้อสะสม” เพราะเป็นหุ้นที่ล้อตามวัฏจักรเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวไปจนถึงขยายตัว KBANK ก็จะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวด้วย เนื่องจากช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว ความต้องการลงทุนจะเพิ่มขึ้น นำไปสู่ความต้องการขอสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนมากขึ้น KBANK ก็มีโอกาสทำผลงานได้ดีในช่วงดังกล่าว
ส่วนการลงทุนระยะสั้น หรือการเก็งกำไรใน Single Stock Futures นั้น เราได้วิเคราะห์มุมมองทางเทคนิคประกอบเพื่อนำมากำหนดกลยุทธ์การลงทุน โดยให้คำแนะนำเปิดสถานะ Long เมื่อมีการย่อไม่ต่ำกว่า 120 บาท จุด Stop Loss เริ่มต้นที่ 115 บาท อย่างไรก็ตาม ควรติดตาม Sentiment บวกลบของ SET ด้วย เนื่องจากมีผลต่อการเคลื่อนไหวของ KBANK หากภาพรวมตลาดเริ่มไม่ดี อาจจะต้องปรับกลยุทธ์เป็น Wait & See ไปจนกว่าภาพรวมตลาดจะดีขึ้น
Array ( )
Array ( [sesCAFXXSLAT] => 1732329012 [CAFXSI18NX] => th [_csrf] => 7cb2ebf214be8608294e02b7ce3e8b98 [CAFXSFEREF] => https://www.caf.co.th/article/analyze-kbank-stock.html )
Array ( [content] => analyze-kbank-stock )
Array ( )